วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2565

การป้องกันขั้นทุติยภูมิกับการแก้ปัญหาโควิด

 เวทาสากุ กุสาทาเว ทายะสาตะ ตะสายะทา สาสาทิกุ กุทิสาสา กุตะกุภู ภูกุตะกุ



ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19  เป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบในวงกว้างต่อประเทศต่างๆทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย  ในขณะที่มีความพยายามในการแก้ปัญหาโดยใช้มาตรการในการป้องกันโรคมาตรการเหล่านั้นล้วนเป็นมาตรการป้องกันขั้นปฐมภูมิ (primary prevention) ทั้งสิ้น มาตรการเหล่านี้ต่อให้มีประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค แต่ก็ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมากสร้างปัญหาทางสังคมอื่นๆต่อไป บทความนี้จึงต้องการชี้ให้เห็นการนำมาตรการการป้องกันขั้นทุติยภูมิมาใช้ในการแก้ปัญหา  โดยจะอธิบายถึงความหมาย วิธีการ เงื่อนไขความสำเร็จและประโยชน์ที่ได้รับจากการนำมาตรการป้องกันระดับทุติยภูมิมาใช้ เพื่อให้ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ปัญหานี้ของประเทศที่ได้อ่านบทความนี้ จะได้นำแนวทางนี้มาดำเนินการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิดต่อไป


การป้องกันโรคสามขั้น

ในกระบวนการป้องกันโรคใดๆก็ตามนั้นจะเป็นมาตรการป้องกันที่ครบถ้วนสมบูรณ์จำเป็นต้องประกอบไปด้วยมาตรการป้องกันครบทั้ง 3 ขั้น กล่าวคือ

1.      ขั้นปฐมภูมิ (primary prevention) มาตรการขั้นนี้มีเป้าหมายสำคัญในการลดอุบัติการณ์ของโรคหรือ ลดการติดเชื้อ ลดการแพร่ระบาดของเชื้อ

2.      ขั้นทุติยภูมิ (secondary prevention) มาตรการขั้นนี้มีเป้าหมายสำคัญในการลดอัตราการตาย (mortality) และอัตราการป่วยหนัก (morbidity)

3.      ขั้นตติยภูมิ (tertiary prevention) มาตรการขั้นนี้มีเป้าหมายสำคัญในการลดความพิการจากโรค (disability) โดยให้การฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยให้กลับคืนสู่สภาพปกติให้มากที่สุด

มาตรการทั้งสามขั้นนี้จำเป็นต้องดำเนินการร่วมกัน ทำไปพร้อมๆกันจะเน้นดำเนินการมาตรการขั้นหนึ่งขั้นใดเพียงขั้นเดียวมิได้


ปัญหาที่ส่งอาจผลต่อมาตรการป้องกันขั้นปฐมภูมิ

          มาตรการขั้นปฐมภูมิ หมายถึงมาตรการป้องกันในสองด้านหลักคือ

มาตรการด้านสังคม หมายถึง มาตรการการเว้นระยะ  การสนับสนุนการทำงานจากบ้าน การกักบริเวณ การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ตลอดจนมาตรการบังคับใส่หน้ากาก มาตรการเหล่านี้ใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดได้ แต่ก่อให้เกิดผลกระทบในแง่เศรษฐกิจเป็นปริมาณมาก

มาตรการด้านสาธารณสุข หมายถึงมาตรการเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 แนวทางคือ 

  • มาตรการเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันเสริม (adaptive immune response) ซึ่งหมายถึงการฉีดวัคซีนชนิดต่างๆ
  • มาตรการเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันหลัก (innate immune response) ซึ่งก็คือมาตรการส่งเสริมสุขภาพ อันได้แก่ การออกกำลังกาย การทานอาหารที่มีประโยชน์ถูกสุขลักษณะ การหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์ การขับถ่ายอุจจาระเป็นประจำทุกวัน และการรักษาสภาวะอารมณ์ให้สดใสมีความสงบสุข 


อย่างไรก็ดีจะเห็นว่าในปัจจุบันนี้มาตรการที่ถูกนำมาใช้หลักๆคือมาตรการด้านสังคม ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจซึ่งมีผลกดดันไม่ให้สามารถดำเนินการมาตรการเหล่านี้ต่อเนื่องได้เป็นเวลานาน ทั้งยังสร้างความตื่นตระหนก ความวิตกกังวลให้กับสังคม อันมีผลทำให้ภูมิคุ้มกันของประชาชนลดลง

ในด้านสาธารณสุข มาตรการที่เน้นหลักคือ การฉีดวัคซีน ซึ่งมีปัญหาที่อาจจะกระทบต่อการบรรลุผลตามเป้าหมายได้หลายประการดังนี้

  1. ไม่สามารถมีปริมาณวัคซีนจำนวนที่พอเพียงกับการใช้ และประเทศไทยไม่สามารถพึ่งพาวัคซีนจากภายนอกประเทศได้เนื่องจากวัคซีนเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงประเทศผู้ผลิตวัคซีนย่อมเก็บวัคซีนเพื่อใช้ในประเทศเขาก่อน จึงอาจมีการสั่งระงับการส่งออกหากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศผู้ผลิตทวีความรุนแรงขึ้น ดังที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศอินเดีย กำลังการผลตวัคซีนของประเทศไทยเองก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ที่มีมากถึง หนึ่งร้อยล้านโดส
  2. การฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายจำเป็นต้องฉีดให้ได้วันละ สามแสนรายเป็นเวลาติดต่อกัน 300 วัน ซึงเป็นปริมาณที่มาก และอาจไม่สามารถทำได้ตามเป้าภายในเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ตัวเลขดังกล่าวยังคำนวณจากข้อมูลประชากรในระบบ มิได้คำนึงถึงกลุ่มประชากรแฝง ประชากรนอกระบบและแรงงานต่างด้าวที่มีเป็นจำนวนมากในประเทศ
  3. การกลายพันธุ์ของเชื้ออาจมีผลทำให้วัคซีนที่ใช้ไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสบางสายพันธุ์ได้ และไวรัสสายพันธุ์เหล่านี้ได้แพร่ระบาดเข้ามาในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของไทยแล้ว
  4. ผลข้างเคียงจากวัคซีนที่เกิดขึ้น อาจเป็นผลให้ประชากรส่วนหนึ่งไม่ยินยอมที่จะฉีดวัคซีน ผลข้างเคียงเหล่านี้จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีการฉีดวัคซีนจำนวนมากขึ้น


ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาข้างต้น การพึ่งมาตรการหลักในการป้องกันขั้นปฐมภูมิเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิดจำเป็นต้องใช้มาตรการป้องกันขั้นทุติยภูมิเข้ามาประกอบด้วยดังจะได้อธิบายต่อไป


มาตรการป้องกันขั้นทุติยภูมิ

          ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่ามาตรการขั้นทุติยภูมินี้เป็นมาตรการที่เน้นการลดอัตราการตาย (mortality) และอัตราการป่วยหนัก (morbidity) โดยหัวใจหลักของมาตรการนี้คือ การค้นหาผู้ป่วยแต่เนิ่น ๆ และให้การรักษาแบบทันท่วงที การให้การรักษาในระยะแรกของการป่วยนี้จะทำให้ผลการรักษาดี ลดอัตราการเกิดปอดอักเสบ และลดอัตราการตายลง โดยการจะดำเนินการตามมาตรการขั้นนี้ได้ ต้องมีเงื่อนไขที่สำคัญ ประการหนึ่งคือ ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย โดยเฉพาะยาที่ใช้ในการรักษาระยะแรกๆของโรค โดยยาเหล่านั้นต้องมีคุณสมบัติสำคัญคือ

  1. ปลอดภัย
  2. มีประสิทธิภาพ
  3. สามารถผลิตได้เองภายในประเทศ

        ทั้งนี้ขั้นตอนสำคัญในการได้มาซึ่งยาดังกล่าวจำเป็นต้องมีการทำวิจัยทางคลินิกอย่างเป็นระบบ มีการเก็บข้อมูลบุคคล อาการเจ็บป่วย ประวัติโรคประจำตัว การตรวจร่างกาย ค่าสัญญาณชีพ ค่าระดับออกซิเจนในเลือด ผลการตรวจเอกซ์เรย์ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ทั้งการตรวจหาเชื้อ การตรวจหาภูมิคุ้มกัน การตรวจหาสารอักเสบ (cytokines) การตรวจเพื่อดูภาวะการแข็งตัวของเลือด การบันทึกผลข้างเคียงของการรักษา หรือการตรวจอื่นๆที่ใช้พยากรณ์ความรุนแรงของโรคได้ กระบวนการดังกล่าวจะสร้างข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไปว่า ยาที่แนะนำให้ใช้ในมาตรการป้องกันขั้นทุติยภูมิเป็นยาที่ปลอดภัยมีประสิทธิภาพจริง


ประโยชน์ที่จะได้รับจากมาตรการป้องกันขั้นทุติยภูมิ

  1. สามารถลดอัตราการป่วยรุนแรง และอัตราการตายจากการป่วยด้วยโรคโควิด 19 ลงซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการล่มสลายของระบบสาธารณสุข
  2. ลดความวิตกกังวลของสังคม ช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจมากขึ้น
  3. ผู้ป่วยที่หายจากโรคสามารถบริจาคพลาสมาเพื่อใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรง
  4. ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้บรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น


เวทาสากุ กุสาทาเว ทายะสาตะ ตะสายะทา สาสาทิกุ กุทิสาสา กุตะกุภู ภูกุตะกุ

~~~~~~~☆●☆~~~~~~


📝 นพ.อรรถพล สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เรื่องเล่าหลังเข็ม 4

  เวทาสากุ กุสาทาเว ทายะสาตะ ตะสายะทา สาสาทิกุ กุทิสาสา กุตะกุภู ภูกุตะกุ ขอหยิบpกเรื่องที่ คุณวิบูลย์ อิงคากุล นำมาบอกเล่าผ่านทางFB 🕀🕀🕀...