วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2565

โควิด คือ อะไร ใครอยากรู้บ้าง?

เวทาสากุ กุสาทาเว ทายะสาตะ ตะสายะทา สาสาทิกุ กุทิสาสา กุตะกุภู ภูกุตะกุ  

โควิด หรือ ชื่อเต็มๆว่า โควิด 19 (Covid 19) คือชื่อ ของโรคหวัดที่มีต้นกำเนิดมาจากเมืองอู่ฮั่นในประเทศจีน คำว่า โควิด (Covid) ย่อมาจากคำว่า Coronavirus disease 2019 หรือแปลเป็นไทยว่า โรคที่เกิดจากไวรัสโคโรนา ในปี 2019 ตามชื่อครับโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของโรคโควิดคือ สายพันธุ์ Severe Acute Respiratory Syndrome-related CoronaVirus 2 (SARS CoV 2) หรือชื่อไทยๆว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์กลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง 2  ซึ่งเป็นชื่อที่ไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่นักเพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสนี้ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยชื่อที่เหมาะสมกับไวรัสตัวนี้จึงควรเป็น ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์กลุ่มไม่มีอาการหรืออาการทางเดินหายใจเฉียบพลันเบาๆ !!   อย่างไรก็ดีการที่ไวรัสตัวนี้ได้ชื่อว่า SARS CoV2 บ่งบอกว่าไวรัสตัวนี้มีความใกล้ชิดกับไวรัส Severe Acute Respiratory Syndrome-related CoronaVirus หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า ไวรัส ซาร์ส (SARS) ที่แพร่ระบาดในประเทศจีนเมื่อปี 2546 ความใกล้ชิดที่ว่านี้ ต้องขยายความว่า เป็นความใกล้ชิดทางพันธุกรรม คือ มีลักษณะทางพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกับไวรัสซาร์สมากที่สุดในกลุ่มโคโรนาไวรัสด้วยกัน

ก่อนจะเล่าต่อว่าไวรัสสองสายพันธุ์นี้มีความเหมือน หรือไม่เหมือนกันอย่างไร ต้องขอย้อนไปเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังเกี่ยวกับเรื่อง “ไวรัส” สักหน่อยก่อน

ไวรัสเป็น ไม่ใช่เซลล์ มันเป็นวัตถุกึ่งมีชีวิตที่มหัศจรรย์มาก ที่เรียกว่า กึ่ง เพราะเวลาอยู่ด้วยตัวของมันเอง มันไม่มีชีวิต เราเรียกมันว่า อนุภาคไวรัส (viral particle) และสาเหตุที่บอกว่ามันไม่มีชีวิต เพราะว่ามันไม่มีการสร้างพลังงาน ต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆทุกชนิดที่จะมีการสร้างพลังงานเพื่อใช้ภายในเซลล์ เนื่องด้วยมันไม่มีอุปกรณ์ที่ใช้ในการสร้างพลังงานเหมือนเซลล์สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อุปกรณ์ที่ว่านั้นคือ ไมโตคอนเดรีย (mitochondria) (ความจริงแล้วไวรัสอาจจะมีวิธีสร้างพลังงานของมันด้วยวิธีอื่น ๆที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้จัก แต่เพราะนักวิทยาศาสตร์รู้ว่าเซลล์สิ่งมีชีวิตใช้ไมโตคอนเดรียผลิตพลังงาน ในเมื่อไวรัสไม่มีไมโตคอนเดรีย ไวรัสจึง ไม่ “น่าจะ” สร้างพลังงานได้) แต่เมื่อไหร่ที่ไวรัสเข้าสู่เซลล์ของสิ่งมีชีวิตใดๆก็ตาม ไวรัสก็จะเริ่ม “มีชีวิต” ขึ้นมาทันที ความมีชีวิตที่ว่าของไวรัสนี้ คือการที่มันจะใช้อุปกรณ์ของเซลล์ที่มันเข้าไปสิงสู่ สร้างลูกๆของไวรัสของมันขึ้นมา ไวรัสที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่นี้พอมากจนได้ที่ มันก็จะออกมาจากเซลล์ แล้วกระจายตัวไปติดเซลล์อื่นๆต่อไป

หยุดแป๊บนึงครับ ก่อนที่ผมจะเล่าต่อ ขอพูดถึงขนาดของไวรัสสักหน่อยก่อน เพื่อท่านผู้อ่านจะได้เห็นภาพชัดขึ้น ไวรัสนั้นเป็นสิ่งกึ่งชีวิต มหัศจรรย์ที่มีขนาดกระจิ๋วหลิว แค่ประมาณ 20-400 นาโนเมตร(ไวรัสโควิดมีขนาดประมาณ 120 นาโนเมตร)  เมื่อเทียบกับขนาดเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆที่มีขนาดประมาณ 10-20 ไมโครเมตร (10,000-20,000 นาโนเมตร)  หรือเทียบง่ายๆว่า ไวรัสมีขนาดเล็กกว่า เซลล์ทั่ว ๆไปประมาณ ร้อยเท่า ซึ่งทำให้ไวรัสสามารถเข้าไป สิงสู่ อยู่ในเซลล์ที่มันติดได้


และเพราะความที่ไวรัสมีขนาดเล็กเช่นนี้ มันจึงมีองค์ประกอบสำคัญที่น้อยชิ้นมาก ไม่มีสารพัดชิ้นส่วนที่เซลล์มี มีเพียงแค่  

  ๑. เปลือก
  ๒. เอนไซม์
  ๓. สารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ หรือ อาร์เอ็นเอ)

จำไว้ดี ๆนะครับ ว่าส่วนประกอบของไวรัสมีอะไรบ้าง เพราะถ้าเราจะจัดการมัน เราก็ต้องเล่นงานที่ส่วนต่าง ๆของมันนี่หละครับ

เอาครับพักเรื่องไวรัสทั่วไปไว้ก่อน มาเล่าเรื่อง ผู้ร้าย ของเราต่อเจ้า ซาร์ส คอฟ ทู ต่อ ไวรัสตัวนี้เป็น RNA virus ไวรัสที่มีสารพันธุกรรมเป็นอาร์เอ็นเอ ซึ่งจะว่าไปมีวิวัฒนาการที่ต่ำกว่า ดีเอ็นเอไวรัส แต่ก็ถือว่าเป็น RNA Virus ที่มีขนาดใหญ่อยู่ไม่น้อย คือมีขนาดประมาณ 120 นาโนเมตร มีรหัสพันธุกรรมทั้งหมดประมาณ 30,000 คู่เบส (ตัวอักษรที่เป็นภาษาพันธุกรรม ซึ่งคือ A U C G สำหรับ RNA) ฟังดูเยอะนะครับ แต่ถ้าเทียบกับพันธุกรรมมนุษย์ที่มีรหัสพันธุกรรมมากถึง สามพันล้านคู่เบส แล้วจะเข้าใจว่า พันธุกรรมของไวรัสโควิด สั้นนิดเดียว แต่สั้นๆอย่างนี้ก็มียีนนะครับ ไวรัสตัวนี้จัดอยู่ในวงศ์ โคโรนาวิริเด (family: Coronaviridea) อยู่ในวงศ์ย่อย ออร์โธโคโรนาวิริเน (subfamily: Orthocoronavirinea) สกุล เบตาโคโรนาโคโรนาไวรัส ( genus: Betacoronaviruses) สกุลย่อย ซาร์เบโคไวรัส (subgenus: Sarbecovirus) ซึ่งในสกุลย่อยนี้มีไวรัสแค่สองชนิด คือ SARS CoV (ไวรัสซาร์ส) กับ SARS CoV 2 (ไวรัสโควิด) แต่ในสกุลเบตาโคโรนาโคโรนาไวรัส นี้ยังมีไวรัสเมอรส์ และไวรัส HCoV-OC43 กับ HCoV-HKU1 สองตัวหลังนี้คือ ไวรัส ที่ทำให้เกิดไข้หวัดธรรมดาแบบที่เราเป็นกันมาก่อน สรุปสั้นๆว่า ไวรัสซาร์สและไวรัสโควิด เป็นญาติใกล้ชิดกันมากที่สุด มีรหัสพันธุกรรมเหมือนกันประมาณ 79%  แต่ในความเหมือนนี้ก็มีความแตกต่าง และความแตกต่างที่สำคัญคือ ความรุนแรงของโรคโดยอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคซาร์สมีสูงถึงร้อยละ 10 ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.25 ที่สำคัญกว่านั้นคือ ผู้ป่วยโควิดจำนวนมากกว่าร้อยละ 90 ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยเหล่านี้เองที่ทำให้โรคโควิดมีการแพร่กระจายได้มากกว่าโรคซาร์สเป็นอย่างมากและการแพร่กระจายที่รวดเร็วนี้เองที่สร้างปัญหาให้มีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก

เอาละครับแล้วเราจะจัดการกับมันอย่างไรดี คำตอบอยู่ที่องค์ประกอบของไวรัสทั้ง 3 ที่ผมกล่าวไว้เบื้องต้นครับ เปลือก เอนไซม์ และสารพันธุกรรม

เปลือก คือส่วนที่เราเอามาทำวัคซีนครับ เนื่องจากเวลาที่ไวรัสเข้าสู่ร่างกายมันจะมีเปลือกห่อหุ้มส่วนต่างๆของมันอยู่ ถ้าร่างกาย “จำ” เปลือกได้ ร่างกายก็จะมีกลไกในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามานี้เองโดยอัตโนมัติ กลไกที่ว่านี้คือระบบภูมิคุ้มกัน เทียบง่ายๆ คือ ถ้าภูมิคุ้มกัน คือ ด่านตรวจคนเข้าเมือง เราก็เอารูปไวรัส หรือผู้ร้ายไปติดไว้ ถ้าใครที่จะผ่านด่านมีหน้าตาแบบนี้ เราก็ไม่ให้มันเข้าด่าน วิธีนี้ใช้ได้ผลในการทำวัคซีนสำหรับเชื้อโรคหลายชนิด แต่ในไวรัสที่มีการกลายพันธุ์สูงๆ วิธีนี้อาจไม่ประสบผลสำเร็จมากนักเพราะต่อให้เราเอารูปไปแปะไว้ที่ด่านแล้ว แต่ไวรัสดันไปทำศัลยกรรมมาใหม่หน้าตาไม่เหมือนเดิม ภูมิต้านทานของเราก็ปล่อยให้มันเข้ามาได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดๆคือ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่มีหลายสายพันธุ์มาก หรือ วัคซีนของไวรัสซาร์สที่มีการระบาดมาตั้งแต่ปี 2003 แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีวัคซีนออกมาใช้ได้

เอนไซม์ คือ เป้าหลักของยาต้านไวรัส ยาต้านไวรัสส่วนใหญ่จะออกฤทธิ์โดยไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์เหล่านี้ เอนไซม์นี้ จะมีส่วนสำคัญในการสร้างอนุภาคไวรัสขึ้นใหม่ภายในเซลล์ พอยาไปหยุดการทำงาน ก็เหมือนว่าเราไปปิดโรงงานผลิตไวรัสในเซลล์ลง ทำให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มปริมาณได้ ร่างกายเลยมีเวลาในการกำจัดไวรัสได้ง่ายขึ้น วิธีนี้จะทำให้จำนวนไวรัสในกระแสเลือดลดลงอย่างมากจนตรวจไม่พบเลยได้ แต่ใช่ว่าจะไม่มีจุดอ่อนซะทีเดียว เนื่องจากเป็นการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ใช้ในการถอดรหัสสารพันธุกรรม จึงทำให้ยากลุ่มนี้อาจจะไปรบกวนการถอดรหัสพันธุกรรมของเซลล์ปกติก่อให้เกิดอาการข้างเคียงได้ นอกจากนี้หากร่างกายไม่สามารถกำจัดไวรัสที่ซ่อนอยู่ในเซลล์ได้จนหมด เมื่อหยุดยาโรงงานผลิตไวรัสก็จะกลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง และทำให้ตรวจพบไวรัสได้ใหม่ เหมือนในรายงานที่พบว่าผู้ป่วยบางรายที่หายจากโรคโควิดแล้ว มีการตรวจพบเชื้อใหม่อีก จุดอ่อนข้อสุดท้ายคือ ไวรัสสามารถมีพัฒนาการจนเกิดการดื้อยา เหมือนในไวรัส  เอชไอวี (ที่เป็นอาร์เอ็นเอไวรัส เหมือนโคโรนาไวรัส) สรุปการใช้ยาต้านไวรัส จึงเป็นการรักษาที่ได้ผลแต่มีข้อพึงระวังดังกล่าว

เป้าสุดท้ายที่เหลืออยู่ คือ สารพันธุกรรม ในกรณีของโควิด คือ สารอาร์เอ็นเอ สารพันธุกรรมนี้ จะว่าไปแล้ว คือ หัวใจ ของไวรัส เป็นส่วนที่กำหนดลักษณะต่าง ๆของไวรัส ถ้าเป้าหมายนี้ถูกทำลาย ไวรัสจะไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ ไม่สามารถสร้างเปลือก หรือเอนไซม์ของมันขึ้นมาได้ เป้าหมายสุดท้ายนี้เองจึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกค้นหาวิธี ที่จะปิดสวิตช์ ทำให้ยีนของไวรัส ไม่สามารถทำงานได้ เพราะถ้าทำได้ ร่างกายจะกำจัดไวรัสได้ง่ายขึ้น แถมเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีต่อไวรัสได้ดีกว่าการกระตุ้นด้วยเปลือก จึงเป็นวิธีสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดขึ้นไปในตัวด้วย

เราก็คงต้องติดตามดูกันต่อไปนะครับว่า เมื่อไหร่ที่จะมีผู้ที่หาวิธี เล่นงาน “กล่องดวงใจ” ของเจ้าวายร้ายไวรัสโควิดได้ ถึงวันนั้น เราก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติเหมือนเดิมอีกครั้ง ใครที่มีความรู้ช่วยคิดก็ขอให้คิดกันต่อนะครับ ส่วนใครที่ช่วยคิดไม่ได้ก็ช่วยกันส่งกำลังใจ ช่วยกันภาวนาให้มีผู้คิดค้นวิธีเล่นงานไวรัสตัวนี้ได้ไวๆ เราจะได้เปิดประเทศอย่างสบายใจกันสักทีครับ


เวทาสากุ กุสาทาเว ทายะสาตะ ตะสายะทา สาสาทิกุ กุทิสาสา กุตะกุภู ภูกุตะกุ

~~~~~~~☆●☆~~~~~~


📝 นพ.อรรถพล สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เรื่องเล่าหลังเข็ม 4

  เวทาสากุ กุสาทาเว ทายะสาตะ ตะสายะทา สาสาทิกุ กุทิสาสา กุตะกุภู ภูกุตะกุ ขอหยิบpกเรื่องที่ คุณวิบูลย์ อิงคากุล นำมาบอกเล่าผ่านทางFB 🕀🕀🕀...