วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2564

สิทธิในตน

 

ความรักตัวกลัวตายเป็นหนึ่งในสัญชาตญาณของมนุษย์อันเป็นความรักที่มีต่อชีวิตของตน สิ่งนี้จึงเป็นแรงผลักดันให้มนุษย์พยายามรักษาชีวิตเอาไว้ให้อยู่รอดยาวนานที่สุด แม้การเกิดแก่เจ็บตายจะเป็นวงจรธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ในช่วงเวลาที่ยังมีชีวิตขอเพียงให้ได้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและจิตใจที่เข้มแข็งก็ช่วยให้ชีวิตหนึ่งของเรานั้นมีประโยชน์สูงสุดทั้งต่อตนเองและผู้อื่น และดำรงเผ่าพันธุ์ที่มีคุณภาพสืบต่อไปได้

 

ร่างกายของแต่ละคนมีความเฉพาะตัว แตกต่างกันไปตามพันธุกรรม ถิ่นกำเนิด สภาพแวดล้อม รูปแบบการใช้ชีวิต ฯลฯ ดังนั้นการได้มาซึ่งสุขภาพที่ดีย่อมมีหลายแนวทางเพื่อรองรับกับความแตกต่างนี้ ในเอกสารว่าด้วยเรื่องสิทธิด้านสุขภาพขององค์การอนามัยโลก Fact sheet หมายเลข 31 จึงให้มุมมองไว้ว่าสิทธิและเสรีภาพเกี่ยวกับสุขภาพนั้นไม่ได้มีเพียงแค่การดูแลสุขภาพ และสถานพยาบาล แต่ต้องครอบคลุมไปถึงปัจจัยที่นำไปสู่การมีชีวิตที่มีสุขภาพที่ดีด้วย อันได้แก่

  • อาหารและน้ำที่สะอาด
  • สุขอนามัยที่เพียงพอ
  • สารอาหารที่พอเพียง
  • สภาพการทำงานและสิ่งแวดล้อมที่ดี
  • ที่สำคัญคือ การให้การศึกษาและข้อมูลที่รอบด้านเกี่ยวกับสุขภาพ  

อีกทั้งเสรีภาพเหล่านี้ยังรวมถึงสิทธิที่ปราศจากการรักษาพยาบาลโดยไม่ได้รับความยินยอม ปราศจากการทรมานและโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือลดระดับคุณภาพในการดูแลรักษา

 

เมื่อสุขภาพของแต่ละคนมีความเฉพาะตน สุขภาพจึงควรเป็นเสรีภาพส่วนบุคคลที่จะเลือกแนวทางที่เหมาะสม และปลอดภัยที่สุดสำหรับตนเอง ดังนั้น การแสดงออกที่ทรงพลังของเสรีภาพส่วนบุคคลคือการที่แต่ละบุคคลสามารถเรียกร้องกรรมสิทธิ์อย่างสมบูรณ์ในร่างกายของตนเพื่อดำรงชีวิตให้อยู่ได้อย่างมีสุขภาพ ภายใต้การให้ความรู้และข้อมูลรอบด้านอย่างเท่าเทียมกัน ปราศจากปิดกั้น เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์สูงสุดและเป็นเครื่องมือเพื่อใช้ในการพิจารณาไปจนถึงการตัดสินใจโดยปราศจากการบังคับไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในทุกรูปแบบ นอกจากนี้ ทางเลือกภายใต้สิทธิด้านสุขภาพไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องต่อรองที่จะส่งผลกระทบหรือไปลิดรอนสิทธิในการดำรงชีวิตด้านอื่น

 

การถกเถียงกันจะไม่เกิดประโยชน์อันใดหากปราศจากความเมตตาที่จะได้มอบปัญญาและทางสว่างให้แก่กัน

เรื่องของสุขภาพไม่ใช่การแข่งขันชิงแชมป์แจกถ้วยรางวัล ยกเว้นแต่หากมีใครจะหาผลประโยชน์จากมันจริงๆ โดยเฉพาะผลประโยชน์บนชีวิตของผู้อื่น

เมื่อเงื่อนไขในการดำเนินชีวิตนั้นต่างกัน  สิ่งที่แต่ละคนให้ความสำคัญก็ย่อมต่างกัน

จะดีกว่าไหม หากเราลองปรับแนวคิดเพื่อทำความรู้จักกัน เข้าใจกัน และเคารพต่อการตัดสินใจของกันและกัน

ในแบบของเขา เขาดูแลตัวเองอย่างไร

ในแบบของเรา เราดูแลตัวเองอย่างไร

มาเรียนรู้ทำความรู้จักกัน 

ใช้ความต่างให้เป็นความสมดุล เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ     






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เรื่องเล่าหลังเข็ม 4

  เวทาสากุ กุสาทาเว ทายะสาตะ ตะสายะทา สาสาทิกุ กุทิสาสา กุตะกุภู ภูกุตะกุ ขอหยิบpกเรื่องที่ คุณวิบูลย์ อิงคากุล นำมาบอกเล่าผ่านทางFB 🕀🕀🕀...