วันพุธที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2565

การใส่หน้ากากในมุมมองทางจิตวิทยา

 

ในสภาวะการณ์ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโรคโควิดทำให้เราเห็นมาตรการป้องกันในรูปแบบต่างๆทั้ง มาตรการด้านสังคมและมาตรการป้องกันระดับบุคคลที่เน้นกันมากที่สุคคือ การใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งมีการบังคับโดยใช้กฎหมายให้ใส่เวลาที่ออกจากบ้าน  

ในบทความนี้จะไม่พูดถึงประสิทธิภาพของการใส่หน้ากากว่า ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้มากน้อยแค่ไหน เพราะขึ้นกับชนิดของหน้ากากที่ใช้ และวิธีการใส่ ตลอดจนปัจจัย อื่นๆที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย  แต่คงต้องเน้นว่าการใส่หน้ากากนั้นไม่ได้ป้องกันการแพร่เชื้อได้มากอย่างที่เข้าใจ ที่สำคัญ ในบริเวณที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ในที่โล่งแจ้งกลางแดดซึ่งความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำมากๆอยู่แล้ว การใส่หน้ากากไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อลงเลย ซ้ำร้ายอาจจะก่อให้เกิดผลเสียอีกด้วย ผลเสียอะไรบ้าง ตามอ่านดูด้านล่างนี้กัน

ผลกระทบต่อการพัฒนาการทางจิตใจจากการใส่หน้ากาก 

เป็นที่ทราบกันดีว่าวัยเด็กเป็นวัยแห่งการพัฒนาการ สิ่งที่เกิดขึ้นกับกระบวนการพัฒนาการของเด็กมีผลกับเด็กคนนั้นไปตลอดชีวิต การสนับสนุนกระบวนการพัฒนาการของเด็กให้เป็นไปตามปกติจึงเป็นเรื่องสำคัญ ในการพัฒนาการทางด้านจิตใจนั้น 

ความสามารถสำคัญอันหนึ่งคือ ความสามารถในการรับรู้อารมณ์ ของผู้อื่น ความสามารถนี้สอดคล้องไปในทางเดียวกับความสามารถในการรับรู้อารมณ์ตนเอง ความสามารถใน การรับรู้อารมณ์นี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการบอกเล่า หรือ สอนด้วยการบรรยาย แต่จะเกิดได้จากการมีประสบการณ์จริง ได้ทำ ได้ปฏิบัติ เหมือนกับการฝึกทักษะด้านอื่นๆ การฝึกทักษะเพื่อรับรู้อารมณ์นี้เกิดขึ้น ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน โดยเด็กจะรับรู้อารมณ์ผู้อื่นจากการแสดงออกของคนใกล้ตัว จากการสังเกตสีหน้า ท่าทางของบุคคลรอบข้าง 

ส่วนสำคัญที่ทำหน้าที่ในการสื่อสารอารมณ์ คือ ปาก ริมฝีปาก การที่เด็ก เห็นริมฝีปาก เห็นรอยยิ้ม หรือ รูปปากอื่นๆจะช่วยให้เด็กคาดเดาอารมณ์ของผู้อื่นได้ ความสามารถในการคาดเดาอารมณ์ของผู้อื่นนี้ จะช่วยให้เด็ก มีความเข้าใจ “จิตใจ” ผู้อื่น มีความเห็นอกเห็นใจ (empathy) ซึ่งช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะในการเข้าสังคมดีขึ้น การพัฒนาความสามารถในการเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่นนี้ ยังมีผลกลับมายังความสามารถในการเข้าใจอารมณ์ของตนเองด้วย ความสามารถในการเข้าใจอารมณ์ของตนเองนี้เป็นหัวใจสำคัญในการจัดการกับปัญหาทางอารมณ์ของเด็กไปตลอดชีวิต 

การใส่หน้ากากจึงมีผลกระทบด้านลบมากต่อกระบวนการพัฒนาดังกล่าว การใส่หน้ากาก ยังเป็นการกระตุ้นให้เด็กเกิดความ “กลัว” กลัวอันตรายจากเชื้อโรค กลัวอันตรายจากสิ่งที่มองไม่เห็น ซึ่งทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาในภาวะที่คิดว่ามีอันตรายรอบๆตัว ซึ่งเป็นสภาวะเดียวกันกับผู้ป่วย โรคย้ำคิดย้ำทำที่คิดว่า ทุกหนทุกแห่งมีเชื้อโรคอยู่และต้องล้างมือซ้ำๆบ่อยๆ ความกังวลดังกล่าวก่อให้เกิด ความระแวง ความรู้สึกไม่ปลอดภัย ทำให้เด็กต้องอยู่กับความกลัวที่เกินจริงนี้ไปตลอดชีวิต 

นอกจากผลข้างต้นแล้ว การใส่หน้ากากยังมีผลต่อการแสดงความคิดเห็น การแสดงความรู้สึกของเด็ก การปิดปากเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อฟังแบบไม่มีข้อโต้แย้ง การยอมรับโดยไม่สามารถแสดงความคิดเห็นของตนได้ ซึ่งมีผลทำให้เด็กยอมรับว่า ตนไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นใดๆได้

ผลกระทบทางอ้อมทางจิตใจต่อเด็ก 

นอกจากผลกระทบทางตรงดังกล่าวข้างต้นแล้ว การใส่หน้ากากยังก่อให้เกิดผลกระทบทางอ้อมด้วย กล่าวคือ นอกจากจะทำให้เด็กเกิดความวิตกกังวลแล้ว หน้ากากยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดความกังวลในผู้ใหญ่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตายาย ครู อาจารย์ หรือ ผู้ใหญ่อื่นๆที่อยู่รอบๆตัวเด็ก ความกังวลเหล่านี้ จะทำให้คนเหล่านั้น ต่อว่า ดุด่า ตำหนิ กล่าวโทษ เด็กถ้าหากเด็กไม่ใส่หน้ากากหรือ ใส่หน้ากากในลักษณะที่ไม่เหมาะสม ความวิตกกังวลของผู้ใหญ่ การต่อว่าเด็กในเรื่องนี้ล้วนมีผลต่อการพัฒนาการทางจิตใจของเด็กทั้งสิ้น

ผลของการใส่หน้ากากต่อการพัฒนาทางร่างกาย 

การใส่หน้ากากนอกจากจะมีผลเสียต่อจิตใจของเด็กแล้ว การใส่หน้ากากยังมีผลเสียต่อพัฒนาการ ทางด้านร่างกายของเด็กด้วย พัฒนาการที่สำคัญ คือ พัฒนาการของระบบภูมิคุ้มกัน 

เป็นที่ทราบกันดีว่า เด็กแรกเกิดนั้นระบบภูมิคุ้มกันหลักที่ทำงานคือ ระบบภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กำเนิด ( Innate immune system ) โดยภายหลังเมื่อเด็กติดเชื้อก็จะค่อยๆพัฒนาภูมิคุ้มกันที่ได้จากการติดเชื้อ หรือ acquired immunity ขึ้นมา โดยพบว่า acquired immunity นี้มี “ความจำ” ที่ทำให้ร่างกายสามารถจดจำเชื้อโรค และจัดการกับเชื้อโรคได้ดีขึ้น 

ข้อมูลใหม่พบว่า innate immunity นั้นก็มี “ความจำ” ซึ่งทำให้เกิดแนวคิดใหม่ “trained immunity ” แนวคิดนี้บอกว่า การเลี้ยงเด็กแบบ “ไข่ในหิน” ไม่ได้เผชิญกับ จุลินทรีย์ (เชื้อโรค) เลยจะทำให้ภูมิคุ้มกันของเด็กอ่อนแอ ไม่แข็งแรง เสมือนกับการที่ไม่ให้เด็กออกกำลังกาย ไม่ให้เคลื่อนไหว อุ้มเด็กไว้ตลอดเวลา สุดท้าย กล้ามเนื้อของเด็กก็จะลีบเล็ก การกันไม่ให้เด็กได้เผชิญกับจุลินทรีย์ตามธรรมชาติ ไม่ได้เล่นดินเล่นทราย ก็จะเกิดผลเช่นเดียวกัน การใส่หน้ากากทำให้เด็กไม่ได้เผชิญกับจุลินทรีย์ที่มีอยู่ทั่วไปตามปกติในอากาศ ทำให้ภูมิคุ้มกันของระบบทางเดินหายใจของเด็กไม่แข็งแรง 

นอกจากผลต่อภูมิคุ้มกันแล้ว การใส่หน้ากากยังทำให้เกิดการคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดที่สูงขึ้น มีผลร้ายต่อการทำงานของสมองของเด็ก ทำให้เกิดอาการมึนงง ศีรษะ (ที่จริงผู้ใหญ่ก็มีอาการเช่นเดียวกันได้  แค่ลองใส่หน้ากากให้มิดชิดแบบถูกวิธีสักพักก็จะรู้สึกได้) มีผลต่อการเรียน การเล่น และพัฒนาการของเด็ก

สุดท้ายที่สำคัญ โควิดไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายกับเด็ก ทั้งนี้ อัตราการตายจากโควิดในเด็กต่ำมาก แถมอัตราการ “ติดเชื้อ” ก็ต่ำมากด้วยเช่นกัน เนื่องจาก เด็กมีภูมิคุ้มกันแบบ Innate immune system (ซึ่งเป็นระบบหลัก ด่านแรกในการจัดการไวรัส) ที่ดีเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ 

ด้วยเหตุนี้ ผู้ว่าการรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกาจึงมีคำสั่ง “ห้าม” บังคับให้เด็กใส่หน้ากาก  ไม่ว่าจะเป็นที่ โรงเรียน สนามเด็กเล่น ร้านอาหารหรือสถานที่ใดๆก็ตาม คำสั่งนี้ไม่ได้ห้ามไม่ให้เด็กใส่หน้ากาก ถ้าใครต้องการใส่ก็ทำได้ แต่ห้ามบังคับคนที่ไม่ต้องการใส่ ให้ใส่หน้ากาก  ในขณะเดียวกัน ศาลในประเทศเยอรมันก็มีคำตัดสิน ห้ามไม่ให้มีการบังคับให้เด็กต้องใส่หน้ากาก เมื่อไปโรงเรียนเช่นเดียวกัน โดยในคำตัดสินของศาลได้ ระบุข้อมูล หลักฐานทางวิทยศาสตร์มากมายที่สนับสนุนคำตัดสินดังกล่าวด้วย 

คำถามคือ ถึงเวลาหรือยังที่ ผู้ใหญ่ในสังคมไทยจะให้ความรู้ที่ถูกต้องกับสังคม ออกมาปกป้องเด็กและ เยาวชนของเราจากผลเสียที่เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจในเรื่องของหน้ากากนี้


นพ. อรรถพล สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง

อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย